การกินอาหารจึงมิใช่การกินเพื่อให้อิ่มหรือเพื่อสนองความอยากเท่านั้น แต่จำเป็นที่ต้องกินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ไม่เป็นโรค และมีจิตใจแจ่มใส อย่างที่เรียกกันว่า "อาหารเพื่อสุขภาพ"
1. อย่าละเลยอาหารเช้า ถือเป็นมื้อที่จะละเลยไม่ได้ เพราะช่วงเวลาจากอาหารเย็น (เมื่อวาน) ถึงเช้านี้ค่อนข้างจะไกล แม้จะเป็นช่วงที่ร่างกายได้หลับนอนพักผ่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะหยุดทำงานตามไปด้วย เพราะฉะนั้น อาหารเช้าจึงจำเป็นอย่างยิ่ง และควรเป็นมื้อที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่ อาหารเช้ายังช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ช่วยให้การเผาผลาญพลังงานดีขึ้นอีกด้วย
2. ปรุงอาหารให้แตกต่างหลากหลาย แม้ข้าวเป็นอาหารหลัก แต่ถ้าสามารถเลือกทานข้าวซ้อมมือได้จะยิ่งดี เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน และใยอาหาร แต่ละมื้อควรปรุงอาหารให้แตกต่างกันบ้าง เพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยถูกปาก และร่างกายยังจะได้รับคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้นด้วย หรือเพียงเปลี่ยนเครื่องปรุงประเภทน้ำมันพืช ก็จะช่วยให้ได้สารอาหารอีกหลายชนิดคือ วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร และยังให้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรที่ช่วยรักษาสุขภาพ
3. การดื่มน้ำให้มาก นับเป็นผลดีต่อร่างกาย ในแต่ละวันจึงควรดื่มน้ำให้ได้ประมาณวันละ 8 แก้ว เพื่อให้มีน้ำมากพอที่จะหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
4. เสริมแคลเซียมให้ร่างกาย ด้วยอาหารที่ปรุงจากปลาตัวเล็ก เต้าหู้ หรือผักใบเขียว อาหารประเภทนี้ให้คุณค่าแคลเซียมสูง ซึ่งจำเป็นต่อร่างกายในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและกระดูก
5. งดขนมขบเคี้ยวที่ไร้สารอาหาร แต่เต็มไปด้วยไขมันและน้ำตาล ซึ่งจะไปทำลายสุขภาพ ลองเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจุกจิกจากขนม หรือลูกอมมาเป็นผลไม้ จะให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างดี เพราะมีวิตามินและไฟเบอร์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย
6. ทานข้าวกล้องและธัญพืชเพื่อสร้างพลังแก่ร่างกาย ข้าวกล้องได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน และใยอาหาร หรือจะเป็นธัญพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ข้าวกล้อง ฯลฯ จะช่วยลดคลอเลสเตอรอลและควบคุมน้ำตาลในเลือดให้สมดุล
7. เพิ่มผักและผลไม้ในแต่ละมื้อ เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน และใยอาหารแล้ว ยังมีสารช่วยชอลอการเสื่อมของเซลล์ ทำให้มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง สดใส อ่อนกว่าวัย และยังมีคุณค่าด้านสมุนไพรรักษาสุขภาพ
8. เลือกปลาตัวเล็กและเนื้อไม่ติดมันมาปรุงอาหาร เพื่อจะได้กินอาหารที่ให้โปรตีนสูง ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และยังช่วยบำรุงเซลล์สมอง ที่สำคัญยังมีไขมันน้อยอีกด้วย
9. ระวังสารปนเปื้อนในอาหาร สารปนเปื้อนต่าง ๆ ทำให้เราไม่ปลอดภัยจากเชื้อโรคพยาธิ สารพิษและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรเลือกกินอาหารที่สะอาด การผลิตถูกต้อง และยังไม่หมดอายุ
ทั้ง 9 ข้อที่แนะนำเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ยังคงต้องอาศัยความยืดหยุ่นต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล แต่ก็อย่าลืมว่าสุขภาพของเราเองสำคัญที่สุด การกินที่ถูกต้องจะช่วยให้เราปลอดภัยจากโรคภัย ไข้เจ็บ และมีสุขภาพที่ดี
credit จาก: ku.ac.th/e-magazine/december47/know/eat9
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น